คณะเภสัชฯ มช.นำเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมและนิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์ภาคเหนือ ค้านร่าง พ.ร.บ.ยา ชี้บทบัญญัติควบคุมคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยหย่อนยานไร้รัดกุม หวั่นผู้ใช้ยาได้รับอันตราย จี้ทบทวนด่วน
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการจัดเสวนาและการแสดงจุดยืนเรื่องคัดค้าน(ร่าง) พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ในประเด็นที่อาจจะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยกับประชาชน 570e8dbbddfbb5f7caa772da4620b513.jpgโดยเฉพาะมาตรา 22(5) โดยมีคณะบุคลากร นิสิตนักศึกษา และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้มากกว่า 500 คน ที่ห้องประชุมอาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วานนี้(31 ส.ค.61) ซึ่งในการเสวนาได้มีการกล่าวถึง ความเป็นมาของร่าง พ.ร.บ.ยา ที่มีบทบัญญัติที่เป็นประเด็นสำคัญ ที่จะส่งผลต่อการคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้ยาในหลายประการ พร้อมทั้งได้มีการอ่านแถลงการณ์โดย รศ.ดร.ภก.วิรัตน์ นิวัฒนนันท์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่e457337809ecc3c0957a84fb215e1f45.jpgทั้งนี้แถลงการณ์ระบุว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติยา เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เส้นทางเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมและนิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์ภาคเหนือ ในฐานะองค์กรทางวิชาการและวิชาชีพทางด้านเภสัชกรรม ได้พิจารณาและเห็นว่ากระบวนการร่างฉบับพระราชบัญญัติฉบับนี้ ขาดการมีส่วนร่วม ตลอดจนการพิจารณาอย่างครบถ้วนรอบด้าน a57c1519e4a3347e209a7e20453f656c.jpgโดยเฉพาะในมาตราที่ 22 (5) ที่ได้ระบุว่า การจ่ายยาที่ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้แล้ว หรือการจ่ายยาตามวงเล็บ (4) ในกรณีซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ใช้ยารักษาผู้ป่วยของตน หรือผู้ประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์ ใช้สำหรับสัตว์ที่ตนป้องกันหรือบำบัดโรค หรือจ่ายยาที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายของตน โดยวิชาชีพที่กำหนดไว้ตามกฎกระทรวง ซึ่งถือเป็นการยกเว้นให้ผู้ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการวิชาชีพเภสัชกรรมสามารถทำการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมได้ เป็นการขัดแย้งกับหลักความปลอดภัยในการใช้ยาให้กับผู้ป่วยในระบบสากล ดังนั้นจึงไม่อาจเป็นหลักประกันสวัสดิภาพและความปลอดภัยด้านยาแก่ประชาชนได้9aa66d3970caeac0b50618f45cce12b1.jpgนอกจากนี้ยังได้มีการลดระดับการควบคุมการโฆษณายา ซึ่งในปัจจุบันกำหนดให้การโฆษณายาจะต้องขออนุญาตก่อนจึงจะทำการโฆษณายาได้ แต่ในร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่ มุ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการจนละเลยความปลอดภัยด้านยาของประชาชน ลดระดับการควบคุมการโฆษณายาให้เหลือเพียงการจดแจ้งเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงและอันตรายต่อการใช้ยาของประชาชน 01d6c70591a0cc3bbe75a17b385626cc.jpgดังนั้นกลุ่มเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมและนิสิตนักศึกษา เภสัชศาสตร์ภาคเหนือ จึงขอคัดค้านร่างพระราชบัญญัติยาฉบับดังกล่าว และขอให้มีการดำเนินการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติยาใหม่ โดยดำเนินการอย่างเป็นระบบ วางอยู่บนพื้นฐานทางวิชาการและวิชาชีพ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาและยกระดับการคุ้มครองสวัสดิภาพ และความปลอดภัยด้านยาของประชาชนอย่างแท้จริง