
จากกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเกี่ยวกับประเด็นความเหมาะสมของโครงการก่อสร้างอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 5 และที่พักข้าราชการตุลาการ ที่มีการใช้พื้นที่ของกรมธนารักษ์ ในตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตั้งบริเวณเชิงดอยสุเทพและใกล้กับเขตอุทยานสุเทพ-ปุย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการสร้างบ้านพักที่ตั้งอยู่บนแนวลาดชันของภูเขาและลักษณะพื้นที่ดูคล้ายยื่นเข้าไปในพื้นที่ป่า ซึ่งสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนแม้ในระยะไกลและยิ่งเห็นชัดเจนยิ่งขึ้นจากภาพถ่ายทางอากาศ โดยประเด็นนี้เคยเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อช่วงกลางปี 2559 ที่เริ่มมีผู้สังเกตเห็นการก่อสร้าง และล่าสุดกลับมาเป็นประเด็นที่มีผู้คนให้ความสนใจอย่างมากอีกครั้ง รวมทั้งมีการเคลื่อนไหวเตรียมยื่นหนังสือร้องขอให้มีการชี้แจงรายละเอียดการดำเนินการโครงการ และเรียกร้องให้ยุติโครงการดังกล่าว
ทั้งนี้รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงใหม่วันนี้(14 มี.ค.61) แจ้งว่า ขณะนี้จากการหารือร่วมกันของเครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่หลายภาคส่วน นำโดยภาคีคนฮักเชียงใหม่,มูลนิธิสืบสานภูมิปัญญาล้านนา,เครือข่ายเชียงใหม่เขียวสวยหอม และเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ เป็นต้น ได้มีความเห็นร่วมกันในการเคลื่อนไหวตรวจสอบติดตามเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวนี้ โดยร่วมกันร่างหนังสือและมีการรับฟังความคิดเห็น พร้อมทั้งให้ร่วมลงชื่อผ่านทางโซเชียลมีเดีย เพื่อเตรียมยื่นถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และกรมธนารักษ์
สำหรับในส่วนของหนังสือที่ยื่นถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ จะเป็นการขอข้อมูลข่าวสารราชการและให้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างดังกล่าว เช่น การขออนุมัติใช้พื้นที่ราชพัสดุ,การพิจารณาโครงการ,การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในเชิงวิศวกรรม เป็นต้น ส่วนหนังสือที่ยื่นถึงกรมธนารักษ์ จะเป็นการขอให้ปรับปรุงระเบียบการใช้พื้นที่ราชพัสดุและการแก้ไขปัญหาทัศนอุจาดของดอยสุเทพ โดยขอไม่ให้มีการอนุญาตใช้ที่ดินราชพัสดุที่อยู่ติดกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์รวมทั้งมีศักยภาพให้เป็นพื้นที่สีเขียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการก่อสร้างบ้านพักตุลาการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการนี้ ให้กรมธนารักษ์ในฐานะเจ้าของที่ดินพิจารณาเพิกถอนการอนุญาตและปรับปรุงให้เป็นสภาพป่าเชิงเขาเช่นเดิม
ศาสตราจารย์เฉลิมพล แซมเพชร ประธานภาคีคนฮักเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ขณะนี้เครือข่ายภาคประชาชนกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำหนังสือและร่วมกันลงชื่อเพื่อยื่นถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่และอธิบดีกรมธนารักษ์ เพื่อขอข้อมูลข่าวสารรายละเอียดโครงการและการใช้พื้นที่ดังกล่าว ตลอดจนขอให้กรมธนารักษ์ทบทวนการอนุญาตให้ใช้ที่ดินราชพัสดุให้เหมาะสม และหากเป็นไปได้อยากให้ยุติการใช้พื้นที่ในส่วนที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าน่าจะมีการยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงสัปดาห์หน้า
โดยการเคลื่อนไหวครั้งนี้ยืนยันว่าภาคประชาชนไม่ต่อต้านคัดค้านการก่อสร้างตามโครงการนี้ ทั้งในส่วนของอาคารที่ทำการและอาคารที่พักที่ตั้งอยู่ส่วนที่เป็นพื้นที่ราบ เพียงแต่เห็นว่าการก่อสร้างในส่วนของบ้านพักที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ลาดชันและดูเหมือนยื่นเข้าไปในพื้นที่ป่าดอยสุเทพนั้น ไม่มีความเหมาะสม แม้ว่าจะมีขออนุญาตใช้พื้นที่อย่างถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม เพราะพื้นที่ดังกล่าวถือว่ามีความอ่อนไหวทางระบบนิเวศน์และหากได้รับความเสียหายแล้วย่อมยากที่จะปรับปรุงแก้ไขให้กลับมาดีดังเดิม ซึ่งหากเป็นไปได้อยากวิงวอนให้ยุติและยกเลิกโครงการส่วนนี้ แล้วย้ายไปก่อสร้างในพื้นที่อื่นที่มีความเหมาะสมแทน แม้ว่าอาจจะดูเหมือนทำให้งบประมาณที่ลงไปสูญเปล่า แต่ที่จริงแล้วสามารถรักษาคุณค่าด้านต่างๆ ไว้ได้และมีค่ามากกว่างบประมาณที่เสียไป รวมทั้งเป็นการป้องกันไม่เกิดตราบาปและเป็นเยี่ยงอย่างให้หน่วยงานอื่นดำเนินการตามอีก
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเดือน มิ.ย.59 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แถลงชี้แจงกรณีดังกล่าวว่าโครงการก่อสร้างดังกล่าวสืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์ภาค 5 ย้ายที่ทำการจากกรุงเทพฯมาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งได้ขอใช้พื้นที่อาคารร่วมกับศาลแขวงเชียงใหม่ และศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่ ที่ตั้งอยู่ที่บริเวณสี่แยกศาลเด็ก ในตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งทำให้สถานที่คับแคบเนื่องจากมีปริมาณคดีและประชาชนที่เข้ามาติดต่อราชการเป็นจำนวนมาก ประกอบกับศาลยุติธรรมในจังหวัดเชียงใหม่ไม่มีที่พักเพียงพอสำหรับข้าราชการ จึงได้ขอใช้ที่ราชพัสดุที่อยู่ในความดูแลของมณฑลทหารบกที่ 33 เนื้อที่ 147 ไร่ 3 งาน 41 ตารางวา ในตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ และได้รับอนุญาตตั้งแต่ปี 2549 เพื่อก่อสร้างอาคารที่ทำการศาล พร้อมบ้านพัก 47 หลัง และอาคารชุด 13 หลัง งบประมาณทั้งสิ้นกว่า 900 ล้านบาท ซึ่งเพิ่งได้รับงบประมาณเมื่อปี 2556 และเริ่มดำเนินการเมื่อปี 2557
ขณะเดียวกันย้ำว่า พื้นที่ก่อสร้างดังกล่าวไม่ได้อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย แต่เป็นที่ราชพัสดุที่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่แล้ว ขณะที่การดำเนินการก่อสร้างได้พยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้มีผลกระทบต่อสภาพพื้นที่เดิมน้อยที่สุด ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตมีลักษณะเป็นแนวยาวจากถนนเลียบคลองชลประทานลึกเข้าไปในพื้นที่ที่อยู่ระหว่างศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์กับหมู่บ้านสวัสดิการทหารบก โดยได้เว้นพื้นที่ 58 ไร่ จากจุดสูงสุดของพื้นที่ที่รับอนุญาตไว้ด้วยการไม่ก่อสิ่งปลูกสร้างใดๆ เพื่อคงสภาพพื้นที่ที่มีต้นไม้อยู่เดิมให้มากที่สุด และบางส่วนมีการขุดย้ายนำไปดูแลเพื่อพร้อมนำกลับมาปลูก.