
ม.แม่โจ้ จับมือ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย จัดเสวนาวิชาการ “ทางรอดวิกฤติหมอกควันด้วยองค์ความรู้วิจัย นวัตกรรม และภูมิสังคม” เสนอรัฐบาลจัดสรรงบประมาณหนุนมหาวิทยาลัยพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตรให้คนเข้าถึงง่ายช่วยลดการเผาต้นตอปัญหาวันนี้(20 เม.ย.62) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) และจังหวัดเชียงใหม่ จัดโครงการเสวนาวิชาการ เรื่อง “ทางรอดวิกฤติหมอกควันด้วยองค์ความรู้วิจัย นวัตกรรม และภูมิสังคม” เพื่อระดมความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาหมอกควันด้วยองค์ความรู้วิจัย นวัตกรรม และภูมิสังคม อย่างบูรณาการและยั่งยืน รวมทั้งเพื่อนำข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่ดีในการแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างยั่งยืนเสนอต่อรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป โดยมีผู้บริหารและบุคลากรจากสถาบันการศึกษาต่างๆ และตัวแทนจากภาคเกษตรกร ภาคประชาชน ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมจำนวนมาก
ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติคุ้มคำ จังหวัดเชียงใหม่ขณะเดียวกันศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ ฤทธิ์เดช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา พร้อมด้วยนายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่,พลตรีจิรเดช กมลเพ็ชร รองแม่ทัพภาคที่ 3 ,ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และรองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกันแถลงข่าว “ทปอ. ร่วมใจ ต้านภัยฝุ่น” โดย ทปอ.ทำการมอบอุปกรณ์ป้องกันภัย และเงินสนับสนุนหน่วยงานที่รวบรวมได้จากการรับบริจาคเพื่อแจกจ่ายประชาชน เจ้าหน้าที่ดับไฟป่าและผู้ประสบภัยพิบัติ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่,จังหวัดเชียงราย,จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดพะเยาประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ระบุว่า ทปอ.เล็งเห็นว่าปัญหาหมอกควันภาคเหนือในปีนี้มีความรุนแรง ซึ่งเบื้องต้นให้การช่วยเหลือด้วยการร่วมกับ 12 มหาวิทยาลัยเครือข่ายในภาคเหนือ รับบริจาคเงินจากทั่วประเทศและจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ขณะเดียวกัน ทปอ.มีความเห็นร่วมกันว่าปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการป้องกันแก้ไขอย่างยั่งยืน เพราะส่งผลกระทบทุกด้าน โดยเฉพาะต่อสุขภาพของประชาชน
ทั้งนี้ด้วยใช้องค์ความรู้ งานวิจัย และนวัตกรรมต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีอยู่แล้วและพร้อมที่จะให้ความร่วมมือสนับสนุน ซึ่งเบื้องต้นทำได้ด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยผลกระทบของปัญหาและวิธีการป้องกันตัวเอง ขณะที่ในระยะยาวจะต้องการจัดการกับการเผาที่เป็นต้นเหตุของปัญหา ซึ่งต้องยอมรับว่าการเผา โดยเฉพาะการเผาเตรียมพื้นที่เกษตรจะยังคงเกิดขึ้นทุกปีตราบใดที่ยังไม่มีทางออกให้ ดังนั้น ทปอ.จึงมีข้อเสนอถึงรัฐบาลว่าควรจะต้องลงทุนและสนับสนุนในเรื่องของนวัตกรรมเครื่องจักรกลเกษตร เพื่อนำไปใช้แก้ไขปัญหาและทางออกในเรื่องนี้
โดยศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า ปัจจุบันทุกมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีองค์ความรู้ มีนวัตกรรมและมีเครื่องต้นแบบเป็นจำนวนมาก เช่น เครื่องจักรกลสำหรับไร่ข้าวโพด เป็นต้น พร้อมที่จะนำไปใช้งานสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและเป็นทางออกที่จะไม่ต้องเผาให้เกษตรกร อย่างไรก็ตามต้นทุนยังค่อนข้างสูงและทำให้สามารถเข้าถึงได้ยาก ดังนั้นเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณสนับสนุนและลงทุนในเรื่องนี้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งเมื่อเกษตรกรมีทางออกในเรื่องจัดการการเผาแล้ว ย่อมจะช่วยลดปัญหาที่เคยเกิดขึ้นลงได้.