
สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจยึดคืนพื้นที่ป่าสงวน ป่าแม่ท่าช้างและป่าแม่ขนิน ท้องที่ตำบลน้ำแพร่อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ หลังถูกซื้อขายเปลี่ยนมือโดยผิดวัตถุประสงค์สร้างบ้านหรูกลางป่า 5 แปลงกว่า 25 ไร่
วันนี้ นายกมล นวลใย ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) ร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขต5, กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองอำเภอหางดง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เข้าตรวจสอบพื้นที่ ที่ได้รับการร้องเรียนว่า มีการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ บริเวณป่าแม่ท่าช้างและป่าแม่ขนิน บ้านเวียงด้ง (ชุมชนห้วยเสี้ยว)
หมู่ 11 ตำบลน้ำแพร่ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ หลังตรวจสอบพบว่า มีการล้อมรั้วขนาดใหญ่ต่อเนื่องรอบบริเวณพื้นที่ที่กรมป่าไม้อนุญาตให้สิทธิทำกินแก่ราษฎรในพื้นที่ (สทก.) ซึ่งสิ้นอายุการอนุญาตแล้ว เนื้อที่รวม 25-2- 28 ไร่
โดยพบว่าผู้ครอบครองพื้นที่ดังกล่าว คือ นางนพมาศ แจ้งกระจ่าง และจากการตรวจสอบข้อมูลในอดีตปรากฎว่า นางนพมาศฯ ได้เคยถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.2561-2562 จำนวน 3 คดี
การเข้าตรวจสอบในครั้งนี้สืบเนื่องจากสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) ได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว จึงได้รวบรวมพยานหลักฐาน เอกสาร ที่เกี่ยวข้อง พบว่า พื้นที่ที่นางนพมาศฯ ครอบครองอยู่เป็นแปลงสทก.ที่เคยได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ และสิ้นอายุการอนุญาตไปแล้ว ปรากฏรายชื่อบุคคล จำนวน 4 แปลง ซึ่งบุคคลดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือดหรือเครือญาติกับนางนพมาศฯ แต่อย่างใด ประกอบกับเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 นางนพมาศฯ ได้มาพบผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) และให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่ความว่า “ตนได้เข้ามาครอบครองที่ดินต่อจากบุคคลในพื้นที่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 โดยการสละสิทธิ์การครอบครองและมีค่าตอบแทนเข้าไปครอบครองในพื้นที่ (ซึ่งบุคคลที่นางนพมาศฯ กล่าวอ้าง ไม่ปรากฏในรายชื่อสทก.เดิม)” เจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วบุคคลดังกล่าวไม่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับนางนพมาศฯ เช่นกัน
วันนี้คณะเจ้าหน้าที่ทั้งหมดจึงได้เข้ามาตรวจสอบขอบเขตของพื้นที่ดังกล่าว แต่นางนพมาศฯ ไม่อยู่ในพื้นที่ จึงได้ประสานแจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านนำตรวจสอบขอบเขตของพื้นที่โดยรอบบริเวณแนวรั้วแสดงอาณาเขต จากนั้นจะทำการแจ้งความดำเนินคดีต่อไป
กล่าวโดยสรุป โดยในจำนวน 5 แปลงที่เข้ามาตรวจสอบในวันนี้ มีพื้นที่ 4 แปลง เป็นพื้นที่ที่กรมป่าไม้อนุญาตให้สิทธิทำกิน หรือ สทก. เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 31 ปัจจุบัน สทก.สิ้นสุดการอนุญาตไปแล้ว หากผู้ได้รับอนุญาตหรือทายาทโดยธรรมที่ได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นอยู่แล้ว ไม่ประสงค์จะทำประโยชน์และอยู่อาศัยต่อไป พื้นที่นั้นจึงถือว่าเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามเดิม การครอบครองพื้นที่จึงถือว่าสิ้นสุดลงเมื่อมีการเปลี่ยนผู้ครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขาย
ให้เช่า ให้โดยเสน่หา รวมไปถึงการสละสิทธิ์ จึงถือว่าการครอบครองที่ดินของนางนพมาศ แจ้งกระจ่าง เป็นการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ไม่เป็นไปตาม มติ ค.ร.ม. 30 มิ.ย. 41 และไม่เป็นไปตาม มติค.ร.ม. 21 พ.ย. 61 มีความผิดตามมาตรา 54 พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และมาตรา 14 แห่งพ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507
ก่อนหน้าเมื่อ เดือน มิ.ย.59 ที่เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบพบว่ามีการก่อสร้างในลักษณะบ้านพักตากอากาศ รีสอร์ท และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ แบบหรูหรา บ้านใหญ่กลางป่า พร้อมสระว่ายน้ำ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เขตอำเภอหางดง จำนวน 18 ราย เนื้อที่รวม 144 ไร่ 2 งาน 60 ตารางวา ซึ่งมีการอ้างหลักฐานเป็นเอกสารสิทธิ์ทั้งโฉนดที่ดิน และ นส.3 รวมทั้งการถือครองตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิ.ย.2541 และเป็นพื้นที่ติดกับรายล่าสุดที่เข้าดำเนินคดี
โดยครั้งนั้นกลุ่มชาวต่างประเทศจำนวน 4 ราย ได้นำเอกสารและหลักฐานต่างๆ ร้องเรียนต่ออธิบดีกรมป่าไม้ ว่าถูกหลอกลวงจากผู้ขายที่เป็นคนไทยให้ซื้อบ้านพักดังกล่าวที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยที่กลุ่มชาวต่างประเทศทั้งหมดไม่ทราบว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถซื้อขายกันได้ตามกฎหมาย จึงตัดสินใจนำเงินเก็บซื้อบ้านดังกล่าวเพื่อหวังจะใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสงบ เพราะผู้ขายมีการโฆษณาว่าเป็นบ้านพักผ่อนสำหรับคนวัยเกษียณ แต่สิ่งต่างๆ กลับไม่เป็นไปตามที่โฆษณา โดยเฉพาะเป็นการรุกล้ำพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ทำให้ได้รับความเสียหายเป็นเงินรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 38 ล้านบาท จากการซื้อบ้าน 4 หลัง ราคาหลังละ 5-12 ล้านบาท และมีการหลอกให้โอนเงินอีกประมาณ 6 ล้านบาท โดยทั้งหมดมาจากประเทศทางฝั่งยุโรป ส่วนใหญ่เป็นวัยเกษียณใช้เงินเก็บช่วงสุดท้ายของชีวิตหวังได้บ้านพักต่างอากาศใจกลางป่าไว้พักผ่อนช่วงบั้นปลายชีวิต ซึ่งคดีทั้ง 5 รายตอนนี้อยู่ในชั้นศาล
สำหรับกรณีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ท่าช้างและป่าแม่ขนิน ที่ได้รับการขนานนามว่า “หุบเขาไฮโซ” เพราะมีการสร้างบ้านพักและรีสอร์ทท่ามกลางพื้นที่ป่าเขาที่มีทิวทัศน์และธรรมชาติสวยงาม