เสือโคร่งเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีตาย3ตัวรวด ผ่าตรวจพบติดเชื้อโรคหัดแมว ต้องเผาทำลายซาก พร้อมเร่งพ่นยาฆ่าเชื้อและฉีดวัคซีนป้องกัน คาดต้นตอมากแมวที่ถูกนำมาปล่อย
68faab5a3d4f15be89a5d60d8df424f5.jpgวันนี้(18 ก.ย.62) แหล่งข่าวจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) เปิดเผยว่า ทางเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ได้ประสานมายังสำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) เพื่อขอให้มาเป็นกรรมการในการเผาทำลายซากเสือโคร่งจำนวน 3 ตัว อายุ 15 ปี,9 ปี และ 6ปี ที่ตายของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี โดยแจ้งสาเหตุการตายหลังจากการผ่าพิสูจน์ซากแล้วว่ามาจากการติดเชื้อโรคหัดแมว ซึ่งแม้ว่าสัตวแพทย์จะทำการรักษาอย่างดีแต่ก็ตายในที่สุด
ขณะที่แหล่งข่าวในเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ยอมรับว่า เรื่องที่เสือโคร่งของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีตายจำนวน 3 ตัว เป็นความจริง โดยอาการเริ่มแรกของเสือทั้ง 3 ตัวก่อนตายนั้น เซื่องซึมไม่ยอมกินอาหาร และท้องเสีย จนซูบผอมกระทั่งตายลงในที่สุด ซึ่งจากการผ่าพิสูจน์ซากของสัตวแพทย์พบว่าทั้ง 3 ตัว ติดเชื้อโรคหัดแมว เบื้องต้นทางเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีได้ทำการพ่นยาฆ่าเชื้อทั่วบริเวณ ทั้งคอกกัก กรงเลี้ยง และส่วนจัดแสดง รวมทั้งจุดต่างๆ อีกทั้งฉีดวัคซีนป้องกันให้กับเสือและสิงโตทุกตัว พร้อมเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิดแล้ว4b945ae6d1ed31d447b772056b9f78ee.jpgสำหรับเชื้อโรคหัดแมวที่ทำให้เสือโคร่งทั้ง 3 ตัว ของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีตายนั้น เบื้องต้นสันนิษฐานว่าอาจจะมาจากแมวของชาวบ้านที่อยู่พื้นที่โดยรอบเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ที่หลุดเข้ามาในพื้นที่และมีบางส่วนถูกนำมาปล่อยทิ้ง จนแพร่ขยายพันธุ์จำนวนมาก โดยแมวอาจจะมีเชื้อดังกล่าวอยู่และติดต่อสู่เสือโคร่ง จากการแอบเข้าไปกินอาหารในคอกกัก ทั้งนี้แม้ว่าเชื้อดังกล่าวจะไม่ติดต่อสู่คน แต่ติดต่อสู่แมวด้วยกัน และเสือหรือสิงโตได้ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องป้องกันด้วยการพ่นยาฆ่าเชื้อและฉีดวัคซีนให้เสือกับสิงโตทุกตัวที่เหลืออยู่c52e223de11d56f12e13416fbc35dea2.jpgทั้งนี้ โรคหัดแมว (feline distemper) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสกดการสร้างเม็ดเลือด (feline panleukopenia virus) หรือพาร์โวไวรัส (parvovirus) เช่นเดียวกับโรคลำไส้อักเสบในสุนัข เป็นโรคที่มีการติดต่อค่อนข้างรวดเร็ว และแพร่กระจายได้อย่างกว้างขวางเนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสที่มีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างสูง เป็นโรคที่ทำให้แมวมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง เพราะนอกจากจะสร้างความเสียหายต่อทางเดินอาหาร โดยเฉพาะลำไส้แล้ว ยังทำความเสียหายต่อไขกระดูกด้วย เป็นโรคที่เกิดได้ในแมวทุกวัย แต่ในลูกแมวที่อายุน้อยกว่า 6 เดือนมักจะพบว่าอาการจะรุนแรงมาก รวมไปถึงบ้านหรือสถานเลี้ยงแมวที่มีจำนวนมาก จะทำให้มีการสะสมของเชื้อในสิ่งแวดล้อมมากและมีโอกาสแพร่กระจายได้ง่ายมากขึ้น เนื่องจากเชื้อสามารถติดต่อผ่านการสัมผัสกันโดยตรงหรือผ่านอุจจาระ หรือทางอ้อมโดยผ่านการปนเปื้อนจากเสื้อผ้าหรือรองเท้าของคนเลี้ยง ไปติดอีกตัวหนึ่งได้
อาการของโรค การติดเชื้อชนิดพาร์โวไวรัส จะทำลายเซลล์ที่มีการเจริญอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น เซลล์เยื่อบุลำไส้ ซึ่งมีการสร้างและผลัดเปลี่ยนตลอดเวลา สัตว์ที่ติดเชื้อจะมีอาการของทางเดินอาหาร เช่น การอาเจียน ท้องเสียเป็นเลือด แห้งน้ำ เบื่ออาหารและผอมโซ อาจสูญเสียแร่ธาตุไปกับการถ่ายมากทำให้อ่อนเพลียได้ ไวรัสยังไปทำลายระบบเลือดที่ไขกระดูกทำให้ไม่สามารถสร้างทั้งเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือด เรียกว่าภาวะเม็ดเลือดต่ำ (pancytopenia) ซึ่งเป็นผลให้มีอาการติดเชื้อแทรกซ้อนได้ง่าย โลหิตจางและนำออกซิเจนได้ไม่ดี อาจเสียชีวิตจากภาวะช็อกได้ รวมถึงเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ นอกจากนี้หากติดเชื้อในแม่แมวขณะตั้งท้อง เซลล์สมองของลูกในท้องที่กำลังโตเร็วก็จะถูกทำลาย โดยสมองส่วนหลัง (cerebellum) ที่ใช้ในการควบคุมการทรงตัว เมื่อคลอดลูกออกมา ลูกอาจมีภาวะผิดปกติคือ ขาไม่สัมพันธ์กันขณะเดิน (lack of orientation) เนื่องมาจากสมองส่วนหลังฝ่อ (cerebellar hypoplasia) หากเกิดอาการดังกล่าวแล้ว ส่วนใหญ่โอกาสรอดชีวิตน้อยมาก