
P-MOVEหนุนชาวบ้านขอกันพื้นที่ 24,500 ไร่ ออกจากเขตอุทานออบขาน ที่เตรียมประกาศพื้นที่ 1 แสน 4 หมื่นไร่ อ้างพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่จิตวิญญาณของชุมชนกะเหรี่ยง รวมถึงเคยเป็นไร่หมุนเวียนของชุมชนดังกล่าวรวมอยู่ด้วย แต่ฝั่งภาครัฐสำรวจพื้นที่ 24,500 ไร่ มีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์ ไม่มีการทับซ้อนกับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของราษฎรแต่ประการใด ทำให้ปัญหายังไม่ยุติล่าสุดต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านในพื้นที่
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 ณ ที่ว่าการอำเภอสะเมิง จ.เชียงใหม่ ชาวบ้านในพื้นที่ อำเภอสะเมิงที่ได้รับผลกระทบเข้าร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็น ในฐานะผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย ในพื้นที่เตรียมประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติออบขาน ที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่16 จัดขึ้น ภายในหอประชุมที่ว่าการอำเภอสะเมิง หลังจากวานนี้ได้รับฟังความคิดเห็นชาวบ้าน 9 หมู่บ้านในตำบลบ้านปง และ 2 หมู่บ้าน ในตำบลน้ำแพร่ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่
สืบเนื่องมาจาก คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2536 รับหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา ประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติออบขาน แต่ในเวลาต่อมาเกิดปัญหาอุปสรรคในพื้นที่คือ ราษฎรบางพื้นที่ไม่ให้ความร่วมมือในการรังวัดแนวเขต ประชาชนต้องการป่าชุมชนเป็นจำนวนมาก รวมถึงพื้นที่เตรียมประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติยังมีการทับซ้อนกับที่ทำกินที่อยู่อาศัยและพื้นที่สาธารณะประโยชน์ของราษฎร ซึ่งต่อมาก็ได้มีการประชุม พูดคุย และปรับแก้ร่างแผนที่อีกหลายครั้ง กระทั่งปี 2558 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช มีข้อสั่งการให้อุทยานแห่งชาติออบขาน สำรวจพื้นที่อย่างละเอียด ให้ดำเนินการปรับแก้แนวเขตตามแผนที่ให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ เช่น ลำห้วย แนวถนน ขอบป่า รวมถึงตรวจสอบปัญหาข้อขัดแย้ง และการทับซ้อนที่ทำกินของราษฎร และหน่วยงานต่างๆ ใช้ประโยชน์ โดยหากมีการซ้อนทับพื้นที่ดังกล่าวให้พิจารณาตรวจสอบร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอกันพื้นที่ดังกล่าวออกจากพื้นที่เตรียมการประกาศฯ
อุทยานฯ ได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ดังกล่าวอีกครั้ง โดยลงพื้นที่สำรวจร่วมกับราษฎรที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ขาน-แม่วาง ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ขนิน และป่าสงวนแห่งชาติป่าสะเมิง ในท้องที่ 9 ตำบล 4 อำเภอ ของจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย ตำบลน้ำแพร่ ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง ตำบลแม่สาบ ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง ตำบลดอนเปา ตำบลบ้านกาด ตำบลแม่วิน และตำบลทุ่งปี๊ อำเภอแม่วาง และตำบลน้ำบ่อหลวง อำเภอสันป่าตอง โดยราษฎรให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีและดำเนินการแล้วเสร็จเกือบทุกพื้นที่ ยังคงเหลือ2 ชุมชน ได้แก่ บ้านแม่ลานคำ หมู่ 6 และบ้านป่าคา หมู่ที่ 11 ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ยังมีความกังวลใจเกี่ยวกับการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขานทับซ้อนที่ทำกิน/ที่อยู่อาศัยของราษฎร
อุทยานแห่งชาติออบขาน ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาและทำความเข้าใจแก่ราษฎรมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการแก้ปัญหาระดับอำเภอ โดยอำเภอสะเมิงได้มีการตั้งคณะกรรมการ/คณะทำงาน ในการสำรวจพื้นที่ร่วมกับราษฎร อุทยานฯ ยืนยันว่าหากการสำรวจพบว่ามีที่ทำกินหรือที่อยู่อาศัย พร้อมจะเสนอกันออกจากการเตรียมประกาศอุทยานฯ แต่ไม่สามารถยุติปัญหาได้ ต่อมากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีการตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาของกระบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส. : P-MOVE) และให้มีการสำรวจพื้นที่ร่วมกันอีกครั้ง การดำเนินการของคณะกรรมการครั้งนี้ P-MOVE และราษฎรรับทราบและไม่มีข้อสงสัยกรณีแนวเขตอุทยานฯ ทับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของราษฎรทั้ง 2 ชุมชนดังกล่าว แต่ส่วนที่เรียกร้องปัจจุบันคือ ต้องการพื้นที่ป่าชุมชน เนื้อที่ประมาณ 24,500 ไร่ โดยให้เหตุผลว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่จิตวิญญาณของชุมชนกะเหรี่ยง รวมถึงเคยเป็นไร่หมุนเวียนของชุมชนดังกล่าวรวมอยู่ด้วย
คณะทำงานฯ มีมติให้มีการสำรวจพื้นที่อีกครั้ง โดยให้ราษฎรนำชี้ให้เห็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า พื้นที่จิตวิญญาณที่กล่าวอ้างนั้นอยู่บริเวณใด มีการใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง เมื่อพิจารณาผลการสำรวจดังกล่าวคณะทำงานฯ มีความคิดเห็นแบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย ดังนี้
คณะทำงานฯ ฝ่าย ขปส.(P-MOVE) มีความเห็นว่า ผลการสำรวจข้อมูลพื้นที่จิตวิญญาณที่ปรากฎในเนื้อที่ประมาณ 24,500 ไร่ แสดงให้เห็นว่าราษฎรมีการใช้ประโยชน์พื้นที่จริง เห็นสมควรกันพื้นที่ดังกล่าวออกจากการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน
คณะทำงานฯ ฝ่ายภาครัฐ พิจารณาข้อมูลที่ได้จากการสำรวจแล้วพบว่า พื้นที่ 24,500 ไร่ มีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์ ไม่มีการทับซ้อนกับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของราษฎรแต่ประการใด และเห็นว่า พื้นที่ที่ราษฎรอ้างว่าเป็นพื้นที่จิตวิญญาณ มีรูปแบบการใช้ประโยชน์ในลักษณะของการพึ่งพิงทรัพยากรโดยปกติทั่วไป เช่น การเก็บหาของป่าเพื่อการยังชีพ แหล่งพืชสมุนไพร และการปล่อยปศุสัตว์เข้าไปเลี้ยง มิได้แตกต่างจากวิถีชีวิตของราษฎรทั่วไปที่อาศัยอยู่ในหรือรอบพื้นที่ป่าชุมชนอื่นแต่ประการใด ส่วนพื้นที่ที่ปรากฎว่าเป็นพื้นที่จิตวิญญาณที่ใช้ประกอบพิธีกรรมตามประเพณีกะเหรี่ยง เช่น แขวนสายสะดือเด็ก ป่าช้า เป็นต้น ล้วนปรากฎอยู่นอกเขตเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน และไม่อยู่ในพื้นที่ 24,500 ไร่ ดังกล่าว
พื้นที่ที่ราษฎรอ้างว่ายังมีประโยชน์ในรูปแบบไร่หมุนเวียน ผลการสำรวจพบว่า ไร่หมุนเวียนเกือบทั้งหมดมีอายุระหว่าง 25-52 ปี (มิได้มีการทำประโยชน์ต่อเนื่อง) ซึ่งปัจจุบันมีสภาพเป็นป่าที่ค่อนข้างสมบูรณ์ มีเพียงจำนวน 3 แปลงเท่านั้นที่มีอายุประมาณ 4 ปี (มีการทำประโยชน์ต่อเนื่อง) ซึ่งทั้ง 3 แปลงดังกล่าวอยู่นอกเขตเตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติออบขานอยู่แล้ว
พื้นที่ประมาณ 24,500 ไร่ ดังกล่าว อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และ 2 และเป็นป่าต้นน้ำสำคัญของลุ่มน้ำขานที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการคุ้มครอง อย่างไรก็ตาม เพื่อลดความขัดแย้งและเพื่อไม่ให้กระทบกับวิถีชีวิตของราษฎรดังกล่าวจึงเสนอว่า เมื่อประกาศอุทยานแห่งชาติออบขานแล้ว ควรกำหนดพื้นที่ 24,500 ไร่ ดังกล่าวเป็นเขตการใช้ประโยชน์เพื่อกิจกรรมพิเศษ (Special Use Zone) เพื่อให้ราษฎรสามารถใช้ประโยชน์จากป่าได้ โดยการจัดทำโครงการฯ ตามมาตรา ๖๕ แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๒
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของคณะทำงานระดับกรมฯ ดังกล่าว ยังไม่สามารถได้ข้อยุติ และราษฎรและ ขปส. ยังคงยืนยันให้กันพื้นที่ 24,500 ไร่ ออกจากการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติออบขาน
ปัจจุบัน การแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้รับการยกระดับเป็นการแก้ไขปัญหาระดับกระทรวงฯ ภายใต้การติดตามของคณะทำงานติดตามการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้มีการประชุมติดตามการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน 2565 ได้จัดประชุมเชิงปฎิบัติการครั้งที่ 1/2565 ณ ห้องประชุมอุทัย จันผกา ส่วนจัดการต้นน้ำ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) ที่ประชุมมีมติ “ให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติออบขาน ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในการกำหนดพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 และในส่วนของการดำเนินการของคณะทำงานที่ชุมชนมีความเห็นให้กันพื้นที่ 24,500 ไร่ ให้นำไปสู่การรับฟังความคิดเห็นด้วย ผลลัพธ์เป็นอย่างไรให้ดำเนินการตามขั้นตอนของการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ ต่อไป”และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ได้กำหนดการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว ในวันอังคาร ที่ 18 ตุลาคม 2565 เวลา 13.30 น. ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอสะเมิง ในครั้งนี้
ทางด้าน นายตาแยะ ยอดฉัตรมากบุญ ชาวบ้านสบลาน ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง เปิดเผยว่า วันนี้ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อกังวลเรื่องข้อกฎหมาย หากประกาศเป็นอุทยาน เกรงจะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ ที่ดินทำกิน พื้นที่ชุมชน เส้นทางคมนาคม และความเป็นอยู่ในอนาคต เพราะที่ผ่านมา ชาวบ้านดูแลป่าชุมชนได้เป็นอย่างดี และในชุมชน ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์เป็นส่วนใหญ่ หากประกาศเป็นพื้นที่ อุทยาน ชาวบ้านจะไม่สามารถนำสัตว์ เขาไป หาอาหารได้ จึงอยากให้อุทยานมีความชัดเจน และ ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน โดยการวางแนวทางร่วมกัน เพื่อเป็นทางออกที่ดีที่สุด
นางสาว นิภาพร ไพศาล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติออบขาน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้เดินสำรวจพื้นที่อย่างละเอียด และกันแนวเขตที่ทำกินร่วมกับชาวบ้าน และมั่นใจว่าพื้นที่ประกาศจะไม่ทับพื้นที่ชุมชนและที่ทำกินชาวบ้านอย่างแน่นอน หากกำหนดแนวเขตอุทยานได้แล้ว จะดำเนินการจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกับชาวบ้านในเรื่องการใช้ประโยชน์และการบริหารพื้นที่ โดยมีแผนชุมชนไว้รองรับ เพื่อให้ชุมชนกับอุทยานอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนโดยปราศจากข้อพิพาท ตามจุดประสงค์หลัก พรบ.อุทยานแห่งชาติ พศ.2562 คือ แก้ไขปัญหาให้คนอยู่กับป่าได้ รักษาป่าต้นน้ำเพื่อให้เป็นสมบัติของชาติและประชาชนส่วนรวม
ทั้งนี้ก็จะนำข้อเสนอจากประชาชน เพื่อนำไปพิจารณาต่อคณะกรรมการต่อไป